ทำไม ? ร่างกายถึงยังได้รับ ‘แคลเซียม’ ไม่เพียงพอเสียที

ทำไม ? ร่างกายถึงยังได้รับ 'แคลเซียม' ไม่เพียงพอเสียที

แคลเซียม นั้นเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ร่างกายต้องการ แต่ด้วยความที่ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์แคลเซียลขึ้นเองได้ จึงจำเป็นต้องรับมาจากอาหาร ย่อยและดูดซึมผ่านลำไส้เล็ก ซึ่งการดูดซึมแคลเซียมของเด็กและผู้ใหญ่ ร่างกายจะดูดซึมได้ประมาณ 20 – 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือก็จะถูกขับถ่ายทิ้งไป วันนี้เราจะทำความรู้จักกับเจ้าแคลเซียมให้มากขึ้น พร้อมทั้งหาสาเหตุว่าทำไม ร่างกายของเราจึงยังได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอเสียที

‘แคลเซียม’ นั้นสำคัญอย่างไร ?

แคลเซียม นอกจากจะเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของกระดูกและฟันแล้ว แร่ธาตุตัวนี้ยังมีหน้าที่ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ช่วยให้เลือดแข็งตัว เสริมสร้างการทำงานของกล้ามเนื้อ ระบบประสาท ช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ และช่วยควบคุมสมดุลของกรด – ด่างในร่างกายอีกด้วย หากร่างกายของเราขาดแคลเซียมไป ยิ่งเป็นวัยเด็ก ก็จะทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อน ทำให้การเจริญเติบโตของกระดูกผิดปกติ หากขาดแคลเซียมในผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน ก็จะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน อีกทั้งยังเป็นสาเหตุของโรคกระดูกเสื่อม ยิ่งไปกว่านั้น หากร่างกายของเราขาดแคลเซียมอย่างรุนแรง ก็อาจก่อให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อเกร็ง กระตุกและชัก ฉะนั้น จึงควรหันมาบำรุงและเติมแคลเซียมในปริมาณที่ร่างกายต้องการอยู่สม่ำเสมอ แล้วไม่ลืมที่จะออกกำลังกายเพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงอยู่เป็นประจำก็จะยิ่งดี

ร่างกายควรได้รับ ‘แคลเซียม’ ในปริมาณเท่าไหร่ ?

ร่างกายของเราควรได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เหมาะสมของแต่ละช่วงวัย โดยมีปริมาณที่ไม่เท่ากัน

  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 – 50 ปี ควรได้รับแคลเซียมในปริมาณ 800 – 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับแคลเซียมในปริมาณ 1,000 – 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ควรได้รับแคลเซียมในปริมาณ 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน

ปัจจัยใดที่ทำให้ร่างกายได้รับ ‘แคลเซียม’ ที่ไม่เพียงพอ ?

  • ไม่ออกกำลังกาย
  • ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากจนเกินไป
  • ดื่มกาแฟในปริมาณมากๆ
  • ได้รับแคลเซียมผ่านทางอาหารไม่เพียงพอ
  • ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนในหญิงวัยหมดประจำเดือน
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน หรือเคยกระดูกหักมาก่อน

จะรับ ‘แคลเซียม’ ได้อย่างเพียงพอต้องทำยังไง ?

ในอาหารที่เรากินกันอยู่ปกติ บางอย่างก็อุดมไปด้วยแคลเซียมโดยที่ไม่ต้องไปถึงการกินอาหารเสริม อย่าง กะปิ , กุ้งแห้ง , งาดำ , ปลา หรือสัตว์น้ำขนาดเล็กที่สามารถกินได้ทั้งตัว , นม ผลิตภัณฑ์จากนม , เต้าหู้ , พืชตระกูลถั่ว ผลิตภัณฑ์จากถั่ว ไปจนถึงตำลึง , พริก , กระถิน , ใบยอ , โหระพา , กะเพรา , กระเจี๊ยบ , ผักกวางตุ้ง , คะน้า , ผักกาดเขียว ซึ่งการเลือกกินนั้นให้กินในปริมาณที่เหมาะสม อีกทั้งแนะนำให้ออกกำลังกายเพิ่มเติมในช่วงเวลา 7 โมง ถึง 9 โมงเช้า  เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินดีจากแสงแดด เป็นวิตามินที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม นอกจากนั้น หากมีความจำเป็นที่จะต้องกินแคลเซียมเพิ่มเติม ก็ควรไปขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ควรไปหาแคลเซียมมากินเอง เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของเรา